ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์วิจัยข้าวล้านนา

ความเป็นมา
ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมความหลากหลายของพันธุกรรมข้าวมาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือที่ถือว่าเป็นแหล่งความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าวที่สำคัญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคของประเทศไทยที่เก่าแก่ที่สุด ตั้งอยู่ในภูมิภาคล้านนา เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 โดยมีคณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการศึกษาและวิจัยด้านข้าวในแง่มุมต่างๆ ซึ่งสร้างความเข้มแข็งทั้งงานวิจัยต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ทำให้งานวิจัยข้าวของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความโดเด่น และมีองค์ความรู้หลายสาขาวิชา ทั้งด้านการผลิต การปรับปรุงพันธุ์ วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด การวิจัยด้านข้าวเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เป็นต้น
ดังนั้น ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา จึงเป็นศูนย์รวบรวมบุคลากร และกลุ่มนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้าว เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ และดำเนินการวิจัยด้านข้าวให้ไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ และครบวงจร ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรและ ประเทศชาติ
วิสัยทัศน์
ศูนย์วิจัยข้าวล้านนา มุ่งเน้นความเป็นผู้นำทางวิชาการทั้งในระดับชาติ และระดับสากล มุ่งมั่นเป็นที่พึ่งของชุมชน สืบสานวัฒนธรรมล้านนาวัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นศูนย์กลางและแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านข้าว และอนุรักษ์พันธุ์ข้าวสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุกรรมข้าวในภูมิภาคล้านนา
- วิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต และแปรรูปข้าวจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำอย่างครบวงจร และถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี
- เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และสืบสานประเพณีวัฒนธรรมในการประกอบอาชีพทำนาตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนล้านนาให้คงอยู่สืบไป โดยมีการถ่ายทอดไปสู่ชุมชนรุ่นใหม่ผ่านพิธีกรรมข้าวล้านนา
- ดำเนินการจัดตั้งโรงสีข้าวชุมชน เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และเป็นแบบอย่างในการพึ่งพาตนเอง และการบริการสู่ชุมชนในท้องที่
- เพื่อความเลิศทางวิชาการ บริการวิชาการทางด้านข้าวให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และนานาชาติ
พันธกิจ
- การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว คุณภาพข้าว รวมถึงเทคโนโลยีก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร
- การศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว โดยเฉพาะในการด้านการแพทย์และเภสัชวิทยา รวมทั้งระบบกลไกทางการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์
- การจัดการระบบกระจายสินค้าและผลิตภัณฑ์จากข้าวให้มีต้นทุนต่ำและรวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการ (Logistics)
- การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยวกับข้าวในด้านกระบวนการผลิต การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา การสีข้าวแบบพึ่งพาตนเอง รวมถึงการแปรรูปข้าวให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจทั่วไป
- จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ล้านนา เพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์และเรียนรู้ด้านประเพณี วัฒนธรรมด้านอาชีพการทำนาแก่ผู้ที่สนใจทั่วไป