ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานด้านวิชาการ 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย คณะเกษตรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะบริหารธุรกิจ และคณะเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ศูนย์วิจัยและวัฒนธรรมข้าวล้านนามีความสามารถที่จะตอบโจทย์ด้านการผลิต การอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพื่อรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทั้งสภาวะน้ำมากและน้ำน้อย การจัดการวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด (ด้านสุขภาพและความงาม)โดยเน้นการวิจัยเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมใหม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับกลุ่มผู้ผลิต เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภครองรับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ และเสริมจุดแข็งให้กับจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นสินค้าคุณภาพสูงได้มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญของไทยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกนอกจากนั้นศูนย์วิจัยข้าวล้านนา ยังมุ่งเน้นสร้างและรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของไทยล้านนา ตั้งแต่ก่อนฤดูเพาะปลูกจนถึงหลังจากการเก็บเกี่ยว โดยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ข้าวล้านนา และโรงสีข้าวชุมชนขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรม และบริการวิชาการแก่ชุมชน เป็นศูนย์กลางของมหาวิทยาลัยในการวิจัย/บริการ และสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม นักศึกษาและนักวิชาการ โดยกลุยทธ์หลักในการดำเนินงานของศูนย์วิจัยฯ มีดังนี้
กลยุทธ์การวิจัยและพัฒนาการผลิตและแปรรูป
- วิจัยและพัฒนาระบบการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรมีการปฏิบัติและดูแลการผลิตอย่างถูกต้องตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP)
- เป็นศูนย์กลางในการอนุรักษ์และรวบรวมสายพันธุ์ข้าวไทย เพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมข้าวและเผยแพร่พันธุ์ข้าวคุณภาพดีไปสู่เกษตรกรโดยเน้นในพื้นที่ภาคเหนือของไทย
- วิจัยและพัฒนา รวมทั้งส่งเสริมระบบตรวจสอบและรับรองคุณภาพให้ได้มาตรฐานเพื่อให้ข้าวที่ผลิตเป็นที่ยอมรับของตลาด
- วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวให้มีมาตรฐานตั้งแต่กระบวนการปลูก การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษา เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ และสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น
- วิจัยและพัฒนาในระดับพื้นฐาน ประยุกต์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการแปรรูปข้าวไทยทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหารเพื่อพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์
- อนุรักษ์พันธุกรรม โดยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ข้าวล้านนา และมีการพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการจัดการพันธุ์
- บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (ผ่านหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี: TLOUBI)
- บริการด้านเทคนิค การทดสอบ และ Laboratory (ส่งต่อไปยัง Lab ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย)
- สนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการจัดประชุมกลุ่มจัดการองค์ความรู้(KM) เพื่อพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกันและเสนอแก่แหล่งทุนต่างๆ
- สนับสนุนทางด้านแหล่งทุน โดยเชิญแหล่งทุนมาบรรยาย และมีการเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
- เป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการรองรับการจัดตั้งอุทยานเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหรืออุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ซึ่งเน้นการวิจัยด้านข้าวในหัวข้อ “นวัตกรรมข้าวไทย เพิ่มมูลค่าสู่ตลาดโลก” โดยการสนับสนุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กลยุทธ์การส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร
- พัฒนาระบบศูนย์กลางสารสนเทศที่พร้อมใช้ (Active Information Center) ในด้านขององค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิต และนวัตกรรมด้านข้าว การจัดการผลผลิตที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์ เพื่อบริการข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจเอกชน รวมถึงผู้บริโภค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ความสามารถในการผลิตและการจัดการผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมให้เกษตรกรได้เข้าถึงองค์ความรู้การพัฒนาอาชีพการทำนา การอยู่ดีมีสุข โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรมีส่วนร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาลและเอกชนและสถาบันการศึกษา ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และการผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นการสร้างความร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรในการเผยแพร่และพัฒนาพันธุ์ข้าว
กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าทางการตลาดข้าว
ข้าวเปลือก
- จัดการหลังการเก็บเกี่ยว และจัดระบบกรรมวิธีการรักษาข้าวเปลือก ให้คงคุณภาพ เพื่อสามารถชะลอการจำหน่ายให้ได้ราคาสูงขึ้น
ข้าวสาร
- จัดตั้งโรงสีข้าวชุมชน เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และเป็นแบบอย่างในการพึ่งพาตนเองและการบริการสู่ชุมชนในท้องที่ เพื่อลดการสูญเปล่า รวมทั้งให้ความรู้กับเกษตรกรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านการทำแห้งเมล็ดข้าวก่อนที่จะนำมาสี ซึ่งจะได้ข้าวที่มีคุณภาพดีสามารถขายได้ในราคาสูง
- ส่งเสริมให้โรงสีในภาคเหนือของไทยพัฒนาระบบการผลิตและสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของโรงสีให้เป็นมาตรฐาน
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว
- วิจัยและพัฒนาให้มีการแปรรูปข้าวให้มีความหลากหลายและมีมูลค่าสูง โดยจัดลำดับความสำคัญตามเป็นไปได้ทางการตลาด พร้อมทั้งส่งเสริมและประชาสัมพันธ์เผยแพร่คุณภาพสินค้า เพื่อขยายตลาดภายใน นำไปสู่การขยายการส่งออก
- เพิ่มกำลังการผลิตวัตถุดิบข้าวให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ โดยประสานเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรจนถึงผู้ประกอบการ
กลยุทธ์การอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมข้าว
อนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมภูมิปัญญาข้าว โดยจัดให้นิทรรศการแสดงประเพณีและวัฒนธรรมการประกอบอาชีพทำนา และแสดงผลงานวิจัยและศักยภาพการผลิตข้าว ตลอดจนสินค้าข้าวคุณภาพและสินค้า แปรรูปในการพิพิธภัณฑ์ข้าวล้านนาเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และบริการวิชาการ